ไข้เลือดออก โรคที่ควรระวังในหน้าฝน
ช่วงหน้าฝนในประเทศไทยกำลังใกล้เข้ามา แต่ไม่ได้มาแค่ฝนแต่ยังพาโรคไข้เลือดออกมาระบาดหนักในตอนนี้อีกด้วย ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ออกมาเตือนว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 30 รายและมีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันประมาณ 23,000 ราย กรุงเทพฯจัดอยู่ในพื้นที่น่าเป็นห่วง
สาเหตุ
1.เชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี ดังนั้นคนคนหนึ่งยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักจะเกิดอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก
2.สำหรับคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือกออกมาก่อนนั้นก็สามารถเป็นซ้ำได้ หากไม่ได้ป้องกันยุงลายกัดหรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำหรือภาชนะที่มีน้ำขัง
3.โรคนี้จะชุกชุมในฤดูฝน ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ ๆ อาจพบโรคนี้ได้ตลอดปี การที่มีโรคนี้ชุกชุมในฤดูฝนเพราะมีจำนวนยุงเพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นจะมีผลต่อจำนวนครั้งของการกัด
4.โรคไข้เลือกออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อเดงกีมีการระบาดอยู่แล้ว 4 สายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งการระบาดของสายพันธุ์ไหนจะมากกว่ากันอยู่ที่พื้นที่ บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจกันไปว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแท้จริงเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้วในไทย
5.โรคนี้เกิดได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของอุณหภูมิการเก็บกักน้ำใช้ในภาวะแล้ง หากไม่ถูกวิธีปิดฝาไม่สนิทอาจกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อเดงกี มียุงลายบ้านและยุงลายสวนเป็นพาหะนำโรค คนเป็นโรคไข้เลือดออกก็เป็นตัวกลางการแพร่เชื้อ
แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
1.ยุงลายเป็นตัวการสำคัญในการนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ยุงลายชอบอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน บริเวณรอบ ๆ บ้าน หรือ ภายในบ้าน แหล่งเพาะพันธุ์ ได้แก่ ภาชนะที่มีน้ำขังค่อนข้างสะอาด เช่น ตุ่มน้ำ ยางรถยนต์เก่า ๆ กระป๋อง ฯลฯ ช่วงเวลาที่ยุงชอบออกหากินที่สุด คือ ช่วงเช้าเวลาประมาณ 9.00 – 11.00 และช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.00 – 16.00
2.นิสัยของยุงแตกต่างจากแมลงชนิดอื่น ๆ ส่วนใหญ่แล้วยุงตัวผู้จะออกจากลูกน้ำก่อน หลังจากยุงตัวเมียออกจากลูกน้ำไม่นานก็จะผสมพันธุ์กันได้ นับว่าเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์ได้ในเวลาอันรวดเร็ว
3.ยุงตัวเมียเท่านั้นที่จะดูดกินเลือด ตัวเมียจะบินได้ไกลและมีชีวิตยาวนานกว่าตัวผู้ ความสามารถและลักษณะของยุงนั้นไม่เหมือนกัน บางชนิดบินได้ไกล บางชนิดกินเลือดสัตว์ บางชนิดกินเลือดคน บางชนิดออกหากินกลางวัน บางชนิดออกหากินกลางคืน
4.วงจรชีวิตของยุงจะมีระยะเวลา 1-2 เดือน แต่บางทีสภาพภูมิอากาศไม่อำนวย ชีวิตของยุงก็อาจจะสั้นเข้ามาอีกตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
อาการ
1.โรคนี้จะเกิดในเด็กและผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน อาการก็คือ มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามมาก มักเป็นรุนแรงกว่าเด็กและจะมาพบแพทย์ช้าเพราะไม่คิดว่าตนเองจะเป็นโรคไข้เลือดออก มักจะไปซื้อยาทานเองเมื่อรู้ว่าตนเองเป็นไข้หรือไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก รวมทั้งมักใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวดและลดไข้ ทำให้ระคายเคืองและมีเลือดออกมาในกระเพาะอาหาร
2.ตามปกติทั่วไปหลังจากมีอาการไข้แล้วไข้เริ่มลดลงแสดงว่าอาการดีขึ้น แต่ในโรคไข้เลือดออกในระยะที่ไข้ลดลงจะเป็นช่วงที่มีอันตรายมาก สังเกตว่าหากระยะที่ไข้ลดลงแต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ จะต้องรีบพาไปพบแพทย์ เพราะหากไม่รีบไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้
3.ระยะไข้ ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะขึ้นสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือ ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง อาจตรวจพบคอแดงได้ แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรือ อาการไอ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากหัดในระยะแรกและโรคระบบทางเดินหายใจได้ เด็กโตอาจบ่นว่าปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา ในระยะไข้นี้ อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งในระยะแรกจะปวดโดยทั่ว ๆ ไปและอาจพบมีผื่นแดงซึ่งมีลักษณะคล้ายผื่นหัดเยอรมันได้
4.อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุด คือ ที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่า เส้นเลือดเปราะ แตกง่าย การทำทดสอบให้ผลบวกได้ตั้งแต่ 2-3 วัน แรกของโรค ร่วมกับมีจุดเลือกออกเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือดซึ่งเป็นจะเป็นสีดำ อาการเลือดออกในทางเดินอาหาร
5.ระยะวิกฤต/ช็อก เป็นระยะที่มีการรั่วของพลาสมาซึ่งจะพบทุกรายในผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวการณ์ไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้องมาก ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว
6.ในรายที่ไม่รุนแรง เมื่อไข้ลดลง ผู้ป่วยอาจจะมีมือเท้าเย็นเล็กน้อยร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของชีพจรและความดันโลหิต ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนของโลหิต เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไป แต่รั่วไม่มากจึงไม่ทำให้เกิดภาวะช็อก ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อให้การรักษาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
7.ระยะฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อก เมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีความรุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อนจะเข้าสู่ระยะรุนแรง จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
อาการไข้เลือดออกในช่วงแรกไข้สูงคล้ายไข้หวัดใหญ่ การรักษาใช้การเช็ดตัวหากจำเป็นต้องให้ใช้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน หากพบจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายตามลำตัวควรพบแพทย์ สำหรับโรคไข้เลือดออกการป้องกันที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัดและกำจัดแหล่งน้ำขังในบ้านซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป
ด้วยความปรารถนาดีจาก Mannature
ขอขอบคุณข้อมูลจาก bangkokhospital
บทความที่น่าสนใจ