โรคติดต่อในเด็กเล็ก รู้เร็วรักษาไว

โรคติดต่อในเด็กเล็ก รู้เร็วรักษาไว

Share : facebook share line share.png twitter share messenger share

บทความ แมนเนเจอร์

โรคติดต่อในเด็กเล็ก รู้เร็วรักษาไว



เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี เป็นวัยที่เด็กเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ และเป็นวัยที่เริ่มไปโรงเรียนทำให้ต้องอยู่ใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ

 

ถ้ามีเด็กในห้องคนหนึ่งป่วยก็มักจะติดต่อไปยังเพื่อนร่วมห้อง หากเป็นสมัยก่อน โรคติดต่อที่พบในเด็กมักเป็นเพียงความเจ็บป่วยไม่ร้ายแรง เช่น ตาแดง หิด เหา กลากเกลื้อน  แต่ปัจจุบันมีโรคติดต่อในเด็กเกิดเพิ่มขึ้นมากมายและทวีความรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกันบ่อยๆ  รวบรวม 5 โรคติดต่อที่เด็กเล็กเป็นกันบ่อย และต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว มาแชร์กัน

 

1) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ  ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อาการป่วยจะเริ่มปรากฎหลังได้รับเชื้อ 1-4 วัน โดยจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก โดยอาจพบอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยเป็นระยะเวลานานอาจจะมีอาการไอจากหลอดลมอักเสบ อาการจะรุนแรงและป่วยนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่มีบางรายที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือเสียชีวิต

 

2)  โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus)

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV นับเป็นอีกหนึ่งโรคทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในเด็กในช่วงฤดูฝนของทุกปี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจ อาการจะปรากฏหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรคประมาณ 4-6 วัน ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและหลอดลมขนาดใหญ่ อาการจะคล้ายกับเป็นหวัดทั่วไป เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอแห้ง มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดหัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 -2 สัปดาห์ แต่ในเด็กทารก เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดแต่กำเนิด การติดเชื้อไวรัส RSV จะก่อให้เกิดอาการป่วยรุนแรงกว่า เพราะเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมอักเสบได้โดยมีอาการไข้ ไออย่างรุนแรง หายใจเร็ว/ติดขัด มีเสียงหวีด หอบ กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกและผิวหนังของทารกจะบุ๋ม ตัวเขียวเนื่องจากขาดออกซิเจน

 

3)    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรียไมโครพลาสม่า (Mycoplasma)

ไมโครพลาสม่า เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวม ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่ชุมชนมีผู้คนจำนวนมาก เช่นโรงเรียน โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยหลังจากได้รับเชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-4 สัปดาห์ อาการป่วยจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ควรพาลูกมาพบแพทย์หากมีอาการไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ไอรุนแรง หายใจเร็ว หายใจมีหน้าอกบุ๋ม ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางรายมีผื่นแดงตามผิวหนัง  โดยโรคติดเชื้อไมโครพลาสม่ารักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกลุ่ม macrolides หรือ doxycycline

 

4)    โรคมือเท้าปาก (Hand, Foot and Mouth)

โรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ซึ่งสายพันธ์ก่อให้เกิดอาการรุนแรงคือ  Coxsackie A และ Enterovirus 71 อาการที่เห็นชัดคือ มีตุ่มแผลในปากหรือในคอ มีผื่นแดงหรือตุ่มใสที่มือ เท้า ตามตัวหรือรอบทวารหนัก ประกอบกับอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ อาเจียน ถ่ายเหลว มักระบาดในช่วงฤดูฝน และเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย ผื่น และตุ่มน้ำใส

 

5)   โรคเฮอร์แปงไจน่า (Herpangina)

โรคเฮอร์แปงไจน่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus ชนิดเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก แต่แตกต่างตรงอาการโรคเฮอร์แปงไจน่า จะมีแผลเฉพาะที่ปากเท่านั้น ในบริเวณเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ต่อมทอนซิล และในโพรงคอหอยด้านหลัง รวมถึงอาการไข้สูงถึง 39.5-40 องศาเซลเซียส ขณะที่มือเท้าปาก อาการจะมีแผลกระจายอยู่ทั่วปากและผื่นที่มือ เท้า ซึ่งไข้จะไม่สูง โรคเฮอร์แปงไจน่าติดต่อลักษณะเดียวกับโรคมือ เท้า ปาก จากการสัมผัสกับเสมหะ น้ำมูก น้ำลายที่มีเชื้อ จึงมักจะระบาดในเด็กวัยอนุบาลที่อยู่ในใช้สิ่งของ ของเล่นร่วมกันในโรงเรียน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก scb

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ฝุ่น! ตัวร้ายทำลูกเป็นภูมิแพ้ ป้องกันด้วย เครื่องฟอกอากาศ

สถานที่ที่ควรหลักเลี่ยงในช่วงโควิด19


บทความที่น่าสนใจ

ประโยชน์ผักผลไม้ 5 สี

เคล็ดลับกักตัวอยู่บ้านอย่างไร ไม่ให้อ้วน